ผู้นำชุมชนกับกระบวนการสร้างสันติภาพ The Community Leaders for the Peace Process (CLPP)
- วันอาทิตย์ ที่ 10 เมษายน 2559 ณ ห้องจาบังติกอ
- 23 มี.ค. 2559
- ยาว 1 นาที
จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลาอันยืดเยื้อยาวนาน ท่ามกลางสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด ประเด็นของความเป็นอัตลักษณ์ทางด้านสังคมพหุวัฒนธรรมจึงเป็นจุดอ่อนที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่การใช้ความรุนแรง โดยไม่มีท่าทีที่จะลดน้อยลงไปแต่อย่างใด ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งความรุนแรงนี้ยังส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ทำให้การเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมจากที่เคยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มจางหายไป

สถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญ และประกาศเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งมีความพยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับนโยบาย ระดับยุทธศาสตร์ และระดับการปฏิบัติในพื้นที่ เช่นเดียวกันกับสังคมไทยในปัจจุบันที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ดูแลและบริหารประเทศก็มีความตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติสุขในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
การพัฒนาให้เกิดสันติสุขท่ามกลางความเป็นพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ จำเป็นต้องพัฒนาแบบบูรณาการบนพื้นฐานชุมชนเข้มแข็ง โดยฟื้นฟูและสร้างทุนทางสังคม (Social Capital) ซึ่งประกอบด้วย ทุนอันมาจากพลังความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทุนจากการเข้าถึงหัวใจของทุกศาสนา ทุนที่ได้จากการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงทุนในการสนับสนุนโครงสร้างด้านการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุนทางสังคมเหล่านี้ต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลางเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเชื่อมพลังเพื่อหลอมรวมองค์ประกอบดังกล่าวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ก่อให้เกิดความสันติสุขขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
ดังนั้น สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (POSBO) จึงได้กำหนดกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการ “ผู้นำชุมชนกับกระบวนการสร้างสันติภาพ : The Community Leaders for the Peace Process (CLPP)” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาทางออกสู่สังคมแห่งสันติสุขต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
2. เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการมีส่วนร่วมเพื่อเสนอ และแสดงความคิดเห็นของทางออกซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามมุมมองและทัศนคติของผู้นำชุมชนระหว่างกันและกัน
3. เพื่อให้ผู้นำชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มบทบาทและตระหนักเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป

Comments