top of page

POSBO ส่งเสริมการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยังยืน


สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (POSBO) เป็นองค์กรเอกชนคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามความในมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติ

ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


มนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพราะทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ได้รับปัจจัยสี่ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย แต่ขณะเดียวกัน การกระทำของมนุษย์เอง ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และเนื่องจากความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร ได้มีผลทำให้เกิดการแก่งแย่งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยังได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างฟุ่มเฟือย และไม่มีแผนการจัดการโดยมุ่งหวังผลกำไรสูงสุด แต่เพียงอย่างเดียวจึงมีผลทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรม และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการแพร่กระจายของภาวะมลพิษ จากขบวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นๆ ด้วย

ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ได้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยขาดความระมัดระวัง และคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่เพียงพอมาโดยตลอด จึงมีผลทำให้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการแพร่กระจายของปัญหามลพิษ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนจนเห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน อาทิเช่น พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุก ทำลาย จนมีสัดส่วนไม่เหมาะสม กับการรักษาสภาพความสมดุล ของระบบธรรมชาติ หรือระบบนิเวศ หรือภาวะน้ำเน่าเสียในแม่น้ำสายหลัก ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง หรือภาวะอากาศเสียในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก อันเนื่องมาจากควันพิษรถยนต์ การเกิดปฏิบัติการ เรือนกระจก (โลกร้อน) เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศมีสภาพที่ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อ ไปนั้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชา การจึงเป็นวิธีการที่จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อที่จะสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไว้ให้มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยอย่าง ยาวนานต่อไป รวมทั้งยังจะก่อให้เกิดความมั่นคง แก่ประเทศด้วย

ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งต่างๆ (สิ่งแวดล้อม) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า แร่ธาตุ พลังงาน และกำลังแรงงานมนุษย์ เป็นต้น โดยคำนิยามแล้ว จะเห็นได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมทุกชนิดไม่เป็นทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งอาจกล่าวสรุปได้ว่า การที่จะจำแนกสิ่งแวดล้อมใดๆ เป็นทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ


ประการแรก เกิดจากความต้องการของมนุษย์ที่จะนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ถ้ายังไม่นำมาใช้ก็เป็นสิ่งแวดล้อม แต่ถ้านำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะกลายเป็นทรัพยากรธรรมชาติในช่วงเวลานั้นๆ

ประการที่สาม สภาพภูมิศาสตร์และความห่างไกลของสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่ไกลเกินไปคนอาจไม่นำมาใช้ ก็จะไม่สามารถแปรสภาพเป็นทรัพยากรธรรมชาติได้


นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มคละกันไป โดยอยู่ร่วมกันอย่างมีกฎ ระบบ ข้อบังคับ ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และทั้งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมา การอยู่เป็นกลุ่มของสรรพสิ่งเหล่านี้ จะแสดงพฤติกรรมร่วมกันภายในขอบเขต และแสดงเอกลักษณ์ของกลุ่มออกมาอย่างชัดเจน กลุ่มของสรรพสิ่งเหล่านี้จะเรียกว่า ระบบนิเวศ หรือระบบสิ่งแวดล้อม นั่นเอง

ความหมายของคำว่าการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


การจัดการ (Management) หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านการจัดหา การเก็บรักษา การซ่อมแซม การใช้อย่างประหยัด และการสงวนรักษา เพื่อให้กิจกรรมที่ดำเนินการนั้น สามารถให้ผลยั่งยืนต่อมวลมนุษย์และธรรมชาติ โดยหลักการแล้ว "การจัดการ" จะต้องมีแนวทางการดำเนินงาน ขบวนการ และขั้นตอน รวมทั้งจุดประสงค์ในการดำเนินงานที่ชัดเจนแน่นอน

จากคำจำกัดความข้างต้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การดำเนินงานต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการจัดหา การเก็บรักษา การซ่อมแซม การใช้อย่างประหยัด และการสงวนรักษา เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์ได้ใช้ตลอดไป อย่างไม่ขาดแคลน หรือมีปัญหาใดๆ หรืออาจจะหมายถึง กระบวนการจัดการ แผนงาน หรือกิจกรรมในการจัดสรร และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนองความต้องการในระดับต่างๆ ของมนุษย์ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการอนุรักษ์ ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด ประหยัด และก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ถ้าเราจะกำหนดว่า สิ่งแวดล้อมที่เรากล่าวกันทั่วๆ ไปนั้น เป็นเรื่องของปัญหาภาวะมลพิษ อันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือจากผลของความก้าวหน้าของการพัฒนาแล้ว เราก็สามารถให้คำจำกัดความแยกระหว่างการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดังนี้ คือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งในด้านการจัดหา การเก็บรักษา การซ่อมแซม การใช้อย่างประหยัด รวมทั้งการสงวน เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาตินั้น สามารถให้ผลได้อย่างยาวนาน

การจัดการสิ่งแวดล้อม หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรามีผลดีต่อคุณภาพชีวิต นั่นก็คือ จะต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษ ที่จะมีผลต่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัย นั่นเอง



การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จะต้องยึดหลักการทางอนุรักษ์วิทยา เพื่อประกอบการดำเนินงานในการจัดการดังนี้ คือ


๑) การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ใช้อย่างฉลาด หรือใช้ตามความจำเป็น ไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย และไม่เกิดการสูญเปล่า หรือเกิดการสูญเปล่าน้อยที่สุด


๒) การประหยัดของที่หายาก และของที่กำลังสูญพันธุ์


๓) การปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งที่เสื่อมโทรมให้คืนสภาพก่อนนำไปใช้ เพื่อให้ระบบสิ่งแวดล้อมดีขึ้น




แนวความคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวความคิดหลักในการดำเนินงาน ดังนี้คือ


๑. มุ่งหวังให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประกอบกันอยู่ในระบบธรรมชาติ มีศักยภาพ ที่สามารถให้ผลิตผลได้อย่างยั่งยืน ถาวร และมั่นคง คือ มุ่งหวังให้เกิดความเพิ่มพูนภายในระบบ ที่จะนำมาใช้ได้ โดยไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ


๒. ต้องมีการจัดองค์ประกอบภายในระบบธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศให้มี ชนิด ปริมาณ และสัดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่ละชนิดเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามธรรมชาติ เพื่อให้อยู่ในภาวะสมดุลของธรรมชาติ


๓. ต้องยึดหลักการของอนุรักษ์วิทยาเป็นพื้นฐาน โดยจะต้องมีการรักษา สงวน ปรับปรุง ซ่อมแซม และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ในทุกสภาพ ทั้งในสภาพที่ดีตามธรรมชาติ ในสภาพที่กำลังมีการใช้ และในสภาพที่ทรุดโทรมร่อยหรอ


๔. กำหนดแนวทางปฏิบัต ิที่ชัดเจนในการควบคุม และกำจัดของเสีย มิให้เกิดขึ้นภายในระบบธรรมชาติ รวมไปถึงการนำของเสียนั้นๆ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง


๕. ต้องกำหนดแนวทางในการจัดการ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ในแต่ละสถานที่ และแต่ละสถานการณ์


bottom of page